top of page
ค้นหา

การลงทุน (Investment)

  • รูปภาพนักเขียน: iplanwealth
    iplanwealth
  • 16 ก.พ. 2558
  • ยาว 1 นาที

การลงทุน (Investment)

หากพูดถึงการลงทุน หลายท่านอาจคิดถึงการลงทุนทำธุรกิจด้วยตนเอง หรือการลงทุนซื้อหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นหรือตลาดตราสารหนี้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทำธุรกิจด้วยตนเองหรือเป็นการลงทุนในตลาดทุนก็ตาม ต่างก็มีความเสี่ยงในการลงทุนทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากการลงทุนคือการคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการนำเงินที่เก็บมาไปทำการลงทุนเพื่อให้เงินนั้นทำงานงอกเงยได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการนำเงินไปเก็บฝากในธนาคาร เมื่อมีการคาดหวังผลตอบแทนที่สูง ความเสี่ยงของการที่จะได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังก็ย่อมสูงมากขึ้นเป็นเรื่องปกติ (High Risk, High Return) ดังนั้นถ้าการลงทุนมีความเสี่ยง "แล้วเราจะลงทุนกันไปทำไม?" วันนี้เรามาลองดูเหตุผลและทำความเข้าใจกันแบบง่ายๆว่า "ทำไมวันนี้เราต้องมีการลงทุน" และ "ลงทุนไปเพื่ออะไร…อะไรคือจุดประสงค์หลักของการลงทุน" เมื่อเข้าใจเหตุผลแล้วว่าการลงทุนเป็นเรื่องที่จำเป็นและเราต้องบังคับตัวเองให้เริ่มต้นลงทุน "เราจะเริ่มต้นที่จะลงทุนอย่างไร" ให้ปลอดภัยหรือมีความเสี่ยงให้น้อยที่สุดภายใต้ผลตอบแทนที่เรารับได้ หรือในมุมกลับเราลองพิจารณากันดูว่า หากวันนี้เราไม่เริ่มต้นที่จะลงทุน อะไรจะเป็นผลลบที่จะเกิดขึ้นกับจัดการค่าใช้จ่ายเพื่อตนเองในอนาคตในยามที่เราไม่สามารถที่จะทำงานได้ด้วยตนเองแล้ว โดยในบทความนี้ผมจะพยายามเขียนเพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านทำความเข้าใจในเรื่องการลงทุนพื้นฐานให้ง่ายที่สุดก่อน แล้วเมื่อเราพร้อมที่นจะลงทุนเมื่อไหร่ ผมจะขยายความต่อยอดการลงทุนในเรื่องอื่นๆต่อไป เพื่อให้ท่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการลงทุนในชีวิตประจำวันให้ได้จริงๆครับ...เราไปดูกันครับ

ทำไมเราต้องลงทุน

หลายท่านอาจเคยได้ยินเพื่อนๆที่เป็นนักลงทุนในตลาดทุน (หรือที่เรียกกันง่ายๆว่านักเล่นหุ้น) คุยกันถึงราคาหลักทรัพย์วันนี้ ว่าตัวนี้มีแนวต้าน-แนวรับ เท่าไหร่, SET Index วันนี้ขึ้นหรือลงกี่เปอร์เซ็นต์ หรือหากบางท่านมีเพื่อนเป็นชาวต่างประเทศเพื่อนบ้านเช่น ชาวสิงคโปร์ก็อาจเคยได้ยินเค้าพูดถึงการลงทุนที่เป็นกิจวัตรประจำวันของชาวสิงคโปร์เกือบทุกคน เป็นต้น ..."พวกเค้าเหล่านั้นลงทุนกันไปทำไม ในเมื่อการลงทุนมีความเสี่ยง"

ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เราต้องลงทุนในวันนี้ก็คือ เรื่องใกล้ๆตัวนี่เองครับ นั่นก็คือ "เงินเฟ้อ" หรือการที่ค่าเงินลดมูลค่าลงเนื่องจากราคาข้าวของเครื่องใช้ที่แพงขึ้นทุกๆวัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ราคาน้ำมัน จากในอดีตที่เราเคยเติมน้ำมันกันลิตรละประมาณ 10 บาท แต่ปัจจุบันขึ้นไปสูงถึงเกือบจะ 2 ลิตรร้อย (ฟังดูแล้วน่ากลัว) ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนั้นเป็นต้นทุนของสินค้าเกือบทุกประเถท เพราะโรงงานผลิตสินค้า การขนส่งสินค้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคหรือบริโภคก็ต้องมีน้ำมันเป็นต้นทุนในการผลิตและขนส่ง เมื่อต้นทุนสูงขึ้นราคาสินค้าจึงต้องมีการปรับตัวสูงขึ้น (ยังไม่นับรวมปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐศาสตร์เช่น ความต้องการบริโภคที่สูงขึ้น หรือการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต) ดังนั้นหากวันนี้เรามีรายได้ 100 บาทจะไปทานก๋วยเตี๋ยวซัก 1 ชาม ถ้าทานแถวบ้านผม นนทบุรี ก็อาจได้ประมาณ 3 .33 ชาม (เพราะชามละ 30 บาท) แต่ถ้าทานในตัวเมืองเช่น สยามพารากอน อาจได้แค่ชามครึ่ง (เพราะชามละ 60 บาท) ทำไมวันนี้ก๋วยเตี๋ยวบางแห่งราคาถึงได้สูงขึ้นไปได้ถึงชามละ 60 บาท ทั้งๆที่หากลองมองย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว (ผมยังแว๊นซ์มอเตอร์ไซค์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่เลย) ก๋วยเตี๋ยวที่แพงที่สุดในสมัยนั้นที่ผมทานก็ยังเพียงแค่ชามละ 20 บาท .. นี่คือหน้าตาของ เงินเฟ้อ ในแบบที่ผมสามารถอธิบายให้ท่านผู้อ่านฟังได้ง่ายที่สุด ให้ลองจินตนาการดูว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าก๋วยเตี๋ยวจะราคาชามละเท่าไหร่ ... ผมพูดตัวเลขในใจผมให้เลยว่ามี ชามละร้อย คือแบ้งค์ร้อยตอนนั้นซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ชามเดียวว่างั้นเถอะ

คราวนี้หากเรามองเห็นภาพของเงินเฟ้อคร่าวๆแล้ว เรามองลองมองดูผลของเงินเฟ้อในทางการคำนวนดูซิว่า ถ้าหากวันนี้เราไม่นำตัวเลขเงินเฟ้อมาเป็นปัจจัยร่วมด้วยในการคำนวนเงินเก็บออมของเราในอนาคต เราจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ผมลองยกตัวอย่างง่ายๆดูนะครับ เช่นในเรื่องการเก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ สมมุติเราเคยได้มีโอกาสพบนักวางแผนทางการเงินที่ช่วยชี้แนะให้เราเริ่มเก็บออมเพื่อการเกษียณแล้ว เราคำนวนได้คร่าวๆว่า วัยเกษียณเราน่าจะมีค่าใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ที่เราต้องการอยู่ประมาณเดือนละ 20,000 บาท เราต้องการเกษียณที่อายุ 60 ปีและคาดหวังว่าจะอายุยืนได้ดูหลานปู่ที่อายุ 80 ปี คือมีเวลาใช้เงิน 20 ปี ดังนั้นเราควรจะต้องมีเงินเก็บ = 20,000 x 12 x 20 = 4,800,000 บาท (ถึงตรงนี้บางท่านร้อง โอ้ว!มายก๊อด ทันที เพราะเท่าที่คำนวนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่กัดฟันเก็บมาก็ยังได้ไม่ถึงครึ่งล้านเลย) แต่ความเป็นจริงมันน่ากลัวกว่านั้น เพราะเงิน 20,000 บาทต่อเดือนที่เราต้องใช้นั้น เราไม่ได้คำนวนผลของเงินเฟ้อเข้าไปด้วย หากเราคำนวนผลของเงินเฟ้อเข้าไปด้วย (อ้างอิงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2557 ที่ 2.6% จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย) เราจะพบว่าที่ปัจจุบันไปจนถึงเกษียณเป็นเวลา 25 ปี (ผมสมมติอายุมาตราฐานของคนทั่วไปที่อายุ 35 ปี และจะเกษียณที่อายุ 60 ปี) อัตราเงินเฟ้อ 2.6% จะทำให้ค่าใช้จ่ายที่ต้องการ 20,000 บาท กลายเป็นประมาณ 38,000 บาท นั่นหมายความว่าเงินที่เราต้องใช้ในอนาคตยามเกษียณนั้น แทนที่จะเป็น 4,800,000 บาท จะกลายเป็น = 38,000 x 12 x 20 = 9,120,000 บาท (โอ้ว!มายก๊อด น่ากลัวกว่าเดิม) สูงกว่าการไม่รวมเงินเฟ้อถึง 2 เท่า (หมายเหตุ: การคำนวนนี้เพียงให้เห็นผลของเงินเฟ้อคร่าวๆ ยังไม่ได้รวมถึงผลตอบแทนของเงินก้อนที่เก็บไว้ภาชนะทางการเงินที่มีผลตอบแทนในยามเกษียณจากการที่ไม่ได้ถอนออกมาใช้ในครั้งเดียว)

ครับ...และนี่คือสาเหตุที่ว่าทำไมวันนี้เราต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะลงทุน ท่านผู้อ่านที่เก่งคำนวนมาถึงตรงนี้จะร้องอ๋อไปแล้ว ท่านที่ไม่เก่งคำนวนไม่เป็นไรครับ เรามาดูเหตุผลกัน เหตุผลก็เพราะว่าทุกวันนี้ พี่น้องชาวไทยของเรายังนิยมที่จะเก็บเงินในที่ที่ปลอดภัยที่สุด คือในธนาคาร สาเหตุเพราะมีความเสี่ยงต่ำ มีรัฐบาลค้ำประกัน (หลายท่านอาจยังไม่รู้ว่าปัจจุบันนี้การค้ำประกันเงินฝากในธนาคารมีการจำกัดวงเงินแล้ว) ถึงแม้จะได้ผลตอบแทนต่ำก็ตาม (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยประมาณ 1% ยังไม่หักภาษี) หากวันนี้เราใช้ธนาคารเป็นที่เก็บเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในอนาคตโดยเราคิดว่าธนาคารมีความเสี่ยงต่ำ มีความปลอดภัยในการรักษาเงินต้นสูง และไม่ต้องการเผชิญกับความเสี่ยงหรือความผันผวนจากการลงทุน จริงๆแล้ว เราไม่รู้เลยว่า "การไม่ยอมรับความเสี่ยงเลย คือความเสี่ยงที่มากที่สุด" ..สาเหตุเพราะเงินเฟ้อนั่นอง เนื่องจากเงินเฟ้อเฉลี่ย 3% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนเงินฝากเพียง 1% มีความหมายว่า "เงินฝากของเราโตไม่ทันเงินเฟ้อ" ผมอธิบายง่ายๆก็คือ วันนี้เราหากเราเก็บเงินไว้ในธนาคาร 100 บาท ที่ปลายปีเราจะมีเงินเก็บ 101 บาท แต่ของที่เราต้องการซื้อในวันนี้ราคา 100 บาท ที่ปลายปีจะมีราคา 103 บาท แสดงว่าหากเรามีความตั้งใจจะเก็บเงินไว้ซื้อของชิ้นนี้ตอนปลายปี (เปรียบเทียบกับการเตรียมเงินเพื่อใช้จ่ายยามเกษียณ) เราจะมีเงินไม่พอที่จะซื้อของชิ้นนั้น (หรือเงินที่เตรียมไว้ใช้ในยามเกษียณมีไม่พอต่อค่าใช้จ่ายในความเป็นจริง) ถ้าเป็นกรณีซื้อของทั่วไปก็ไม่เท่าไหร่ เพราะไม่พอเราก็ไม่ซื้อ แต่หากเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อชีวิตประจำวันในอนาคต (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยสูงอายุที่มีค่าใช้จ่ายสุขภาพสูง) ถ้าเราเก็บไว้ไม่เพียงพอ สิ่งที่จะเกิดขึ้นมันดูจะน่ากลัวกว่าการที่จะกัดฟันเก็บเงินตอนนี้มาก เพราะในยามนั้นเราไม่สามารถที่จะมีเรี่ยวแรงไปทำมาหากินเพื่อหาเงินมาเติมในส่วนที่ไม่พอได้ เมื่อไม่พอก็อาจเกิดกรณีที่คุณปู่จะต้องขออนุญาติบ๊ายบายหลานปู่ไปก่อนวัยอันควร เนื่องจากไม่มีทรัพย์ในการเลี้ยงชีพตนและดูแลสุขภาพ

มาถึงจุดนี้คิดว่าท่านผู้อ่านทั้งที่คำนวนเก่งและไม่เก่ง ก็คงจะเห็นภาพตามผมว่า การลงทุนที่ให้ได้ผลตอบแทนเพียงพอ "อย่างน้อยก็ให้เท่าหรือสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ" นั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะมีชีวิตในวัยชราได้อย่างมีสุขกับลูกหลาน (เตรียมได้มากพออาจอยู่ไปถึงเหลน) และหากเหลือก็ยังสามารถส่งทอดเป็นมรดกให้ลูกหลานแสดงความรักชั่วนิรันดร์ได้ต่อไป แต่ถึงจุดนี้ผมยังไม่อยากให้ท่านผู้อ่านกังวลมากว่าจะต้องลงทุน และจะต้องเริ่มมีความเสี่ยง สิ่งที่เราจะมาดูกันต่อไปก็คือ เราจะลงทุนอย่างไรให้ปลอดภัย หรือ ให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด โดยยึดจุดประสงค์ของเราคือให้ผลตอบแทนนั้นอยู่ในระดับสูงกว่าเงินเฟ้อ โดยอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ ...ในบทความหน้าผมจะเริ่มอธิบายวิธีปฏิบัตินะครับว่าเราจะต้องมีหลักการที่จะเริ่มต้นในการลงทุนอย่างไร และวินัยในการลงทุนที่ดีแบบที่เป็นนักลงทุนจริงๆ (ไม่ใช่นักเก็งกำไร) เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายของการลงทุนที่เราต้องการต้องทำอย่างไร ... สวัสดีครับ

 
 
 

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
Financial Planning - The Big Picture

www.smallwoodcapital.com John L. Smallwood, CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™ from Shrewsbury, New Jersey demonstrates that everyone has a...

 
 
 
Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Classic
  • Twitter Classic
  • Google Classic
bottom of page